วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ทำไมผักหน้าหนาวในญี่ปุ่นจึงหวานอร่อยมากกว่าฤดูกาลอื่น


 หลายคนคงเคยได้ยินมาว่าผักในญี่ปุ่นมีรสชาติหวานอร่อยเนื่องมาจากดินและสภาวะอากาศที่ดี แต่ผักหลายชนิดนั้นมีรสชาติหวานอร่อยมากในช่วงฤดูหนาว มารู้จักผักอร่อยในหน้าหนาวของญี่ปุ่นและเหตุผลที่ผักหวานอร่อยกันนะคะ

ผักที่หวานอร่อยในหน้าหนาวของญี่ปุ่นและคุณค่าสารอาหารที่ดีต่อร่างกาย

ในช่วงหน้าหนาวร่างกายคนเราก็มักมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อต่อสู้กับความหนาว ทำให้ระบบต่างๆ ทำงานผิดปกติไปบ้าง เช่น ระบบเผาผลาญอาหารทำงานได้ไม่ดี ระบบย่อยอาหารทำงานได้ลดลง และระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เป็นต้น คนญี่ปุ่นจึงหาตัวช่วยเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงจากการเลือกทานผักต่างๆ ที่อุดมไปด้วยสารอาหารเพื่อเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรงต่อสู้กับความหนาวได้ โดยผักต่างๆ ที่คนญี่ปุ่นนิยมทานในช่วงฤดูหนาวและรสชาติหวานอร่อยมีดังนี้

ผักกาดขาว (白菜)

ผักกาดขาวอุดมไปด้วยวิตามินซี แคลเซียม โพแทสเซียม และเส้นใยอาหาร ซึ่งช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง ป้องกันไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และอาการท้องผูก 

หัวไชเท้า (大根)

หัวไชเท้าดิบอุดมไปด้วยเอนไซม์อะไมเลสซึ่งช่วยให้ร่างกายย่อยสลายแป้งและเสริมหน้าที่การทำงานของระบบย่อยอาหาร อีกทั้งหัวไชเข้าดิบยังอุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง

ผักกาดกวางตุ้ง (小松菜)

ผักกวางตุ้งอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน วิตามินซี ธาตุเหล็ก และแคลเซียม ช่วยป้องกันไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่

ต้นหอมญี่ปุ่น (ネギ)

ต้นหอมญี่ปุ่นอุดมไปด้วยสารอัลลิล ซัลไฟด์ (allyl sulfide) ซึ่งช่วยให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบี 1 ได้ดี ช่วยป้องกันความเหนื่อยล้า อีกทั้งยังช่วยเสริมให้การไหลเวียนเลือดดี

ผักปวยเล้ง (ほうれん草)

แม้ว่าจะหาผักปวยเล้งทานได้ตลอดทั้งปี แต่ผักปวยเล้งในช่วงฤดูหนาวจะมีรสชาติหวานอร่อยและมีวิตามินซีสูงเป็น 3 เท่าของผักปวยเล้งในช่วงอื่นของปี วิตามินซีจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง

เหตุผลที่ผักหวานอร่อยในช่วงฤดูหนาว

โดยปกติองค์ประกอบของผักจะเป็นน้ำมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้ำจะมีจุดเยือกแข็งที่ 0 องศาเซลเซียส หากพืชไม่มีการปรับตัว ในฤดูหนาวที่อุณหภูมิในตอนกลางคืนต่ำถึง 0 องศาเซลเซียสจะทำให้เซลล์พืชเป็นน้ำแข็งและพืชจะตายเนื่องจากเซลล์ถูกทำลาย เพื่อการอยู่รอดพืชจึงเปลี่ยนแป้งที่สะสมอยู่ในเซลล์ให้เป็นน้ำตาล ซึ่งหากมีน้ำตาลอยู่ในเซลล์พืชสูงจะทำให้จุดเยือกแข็งของผักต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ดังนั้นแม้ว่าอากาศจะหนาวถึง 0 องศาเซลเซียสแต่เซลล์พืชก็ไม่เป็นน้ำแข็ง ทำให้พืชอยู่รอดได้และมีน้ำตาลสะสมให้คนนำมาทานอย่างอร่อย

เกษตรกรญี่ปุ่นแถบจังหวัดเขตหนาว เช่น จังหวัดฮอกไกโด ใช้วิธีการนำหิมะมาปกคลุมผักหลายชนิด เช่น กะหล่ำปลีและผักกาดขาว เพื่อให้ผักปรับตัวเพื่อการอยู่รอดโดยการเปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาล และนำมาขายสร้างคุณค่าของผลผลิตทางการเกษตร

แม้แต่ผักก็มีการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด ทำให้มนุษย์อย่างเราตระหนักว่าเวลานำผักมาทานนั้นต้องทานให้หมด อย่าเขี่ยทิ้งอย่างไร้ค่า ได้ชื่อว่าผักนั้นมีคุณค่าต่อร่างกายแน่นอนค่ะ

ที่มา:sanook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น