ในปัจจุบันสวนดาดฟ้ากลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่มีพื้นที่จำกัด ซึ่งเราสามารถพบเห็นว่ามีการนำพื้นที่บนดาดฟ้าไม่ว่าจะเป็นดาดฟ้าของทาวน์เฮาส์ ตึกแถว คอนโดมิเนียม ฯลฯ ไปปลูกต้นไม้ ทำสวน แล้วถ้าคุณอยากทำสวนดาดฟ้าบ้าง ควรรู้และเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้างก่อนที่จะเนรมิตสวนบนดาดฟ้าของคุณ
1.เช็กโครงสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเป็นอาคารประเภทไหน เรื่องของโครงสร้างอาคารนั้นเป็นสิ่งที่คุณควรเช็กเป็นอันดับแรกก่อนที่จะลงมือทำสวนดาดฟ้า ควรเช็กว่าอาคารเหล่านั้นมีโครงสร้างที่แข็งแรงเพียงพอหรือไม่ สามารถรับน้ำหนักได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งสวนดาดฟ้านั้นมีน้ำหนักมากดังนั้นต้องเช็กให้รอบคอบ รวมทั้งดูเรื่องการรั่วซึม และการแตกร้าวของตัวอาคารด้วย
2.ซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย เมื่อมีการเช็กโครงสร้างอาคารแล้ว หากพบความเสียหาย เช่นรอยแตกรอยร้าวให้รีบซ่อมแซมให้เรียบร้อยก่อนจะลงมือทำสวนดาดฟ้า นอกจากนั้นอาจต้องทำกันซึมเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของพื้นที่
3.ป้องกันอันตรายด้วยการทำกันซึม พื้นที่ที่จะทำสวนดาดฟ้าต้องเจอกับน้ำ แดด และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นควรทำกันซึมให้กับพื้นที่เพื่อป้องกันไม่ให้มีความชื้นสะสมอยู่บนพื้นผิวคอนกรีต ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหารั่วซึมตามมา ซึ่งหากทิ้งไว้จะทำให้เกิดความเสียหายไปที่ตัวโครงสร้าง ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ และทำให้เกิดอันตรายตามมาได้
4.วางแผนเรื่องระบบประปา เมื่อปลูกต้นไม้ต้องรดน้ำ ดังนั้นควรวางแผนเรื่องระบบน้ำประปา ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งก๊อกน้ำ หรือจะเป็นระบบการรดน้ำแบบอัตโนมัติ ขึ้นอยู่กับความต้องการ
5.วางแผนเรื่องน้ำหนักบนดาดฟ้า น้ำหนักที่ว่านี้คือการกำหนดพื้นที่บนดาดฟ้าว่าในแต่ละจุดควรปลูกอะไร เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคาร สิ่งที่อยากแนะนำคือให้ปลูกต้นไม้ที่มีน้ำหนักไว้บริเวณคาน หรือแนวเสา ส่วนต้นไม้ที่มีน้ำหนักปานกลางสามารถปลูกใกล้กับแนวคานได้
6.ระบบไฟฟ้าที่ปลอดภัย บนดาดฟ้านอกจากระบบน้ำแล้วยังต้องมีระบบไฟฟ้าเพื่อให้แสงสว่างด้วย ดังนั้นการติดตั้งระบบไฟฟ้าควรคำนึงถึงการใช้งานแบบภายนอกอาคารมีปลั๊กไฟ ฝาครอบกันน้ำ และติดตั้งเบรกเกอร์เฉพาะเพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร
7.เลือกต้นไม้ที่เหมาะสม เมื่อระบบต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว เรื่องการเลือกต้นไม้ก็มีความสำคัญเพราะการเลือกต้นไม้ควรเลือกให้เหมาะกับสวนดาดฟ้า เพราะสวนดาดฟ้านั้นต้องเผชิญกับทั้งแดด ความร้อน นอกจากนี้ควรคำนึงถึงภาชนะที่นำมาปลูกด้วยเนื่องจากต้องคำนึงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมลมฟ้าอากาศ
ที่มา:sanook
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น