โกโก้คือพืชที่เป็นที่มาของช็อกโกแลต แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนักเท่ากับที่ทุกคนรู้จักช็อกโกแลต การปลูกโกโก้ดีไหม แล้วปลูกในไทยได้ไหม หลายๆคนจึงอาจจะยังสงสัยในจุดนี้ วันนี้เราจึงขอนำข้อมูลมาเล่าให้คุณลองพิจารณาดูกัน
เวลานึกถึงช็อกโกแลต คนส่วนใหญ่อาจจะนึกถึงประเทศในแถบยุโรปอย่างเบลเยี่ยม สวิสเซอร์แลนด์ หรือฝรั่งเศส แต่รู้ไหมคะ จริงๆแล้วช็อกโกแลตไม่ได้มาจากประเทศเหล่านี้และประเทศเหล่านี้ก็ไม่มีพื้นที่ปลูกโกโก้เป็นของตัวเองด้วย ต้องอาศัยการนำเข้าทั้งหมด พื้นที่ที่สามารถปลูกต้นโกโก้ซึ่งเป็นที่มาของช็อกโกแลตได้คือพื้นที่ในแถบเส้นศูนย์สูตรช่วงระหว่างเส้นรุ้งที่ 20 องศาเหนือ ถึง 20 องศาใต้ หรือเรียกอีกชื่อว่าแถบเข็มขัดเส้นศูนย์สูตร (Equatorial Belt) และพื้นที่นี้ก็รวมถึงประเทศไทยด้วย
จริงๆแล้วในพื้นที่หลายๆจังหวัดในประเทศไทยก็มีการปลูกโกโก้อยู่แล้ว เช่น นครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี เป็นต้น เนื่องด้วยกรมวิชาการเกษตรได้มีการส่งเสริมการปลูกต้นโกโก้เพื่อแซมในสวนมะพร้าวทั้งในภาคใต้และภาคตะวันตกมาตั้งแต่ช่วงปี 2538 และมีการวิจัยสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในประเทศ เป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดีและทนทานต่อโรคที่รู้จักกันในนามสายพันธุ์ลูกผสมชุมพร1
ในแต่ละปี ความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์โกโก้หรือช็อกโกแลตในไทยมีมูลค่าสูงถึง 7,000 ล้านบาท ต่อปี แต่ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่า 95% แม้ว่าประเทศไทยจะมีพื้นที่ปลูกและมีศักยภาพสามารถปลูกผลผลิตเหล่านี้ได้เองก็ตาม จุดนี้จึงถือเป็นหนึ่งในโอกาสสำหรับพืชพันธุ์ชนิดนี้
โดยข้อดีของการปลูกโกโก้ ก็อย่างเช่น
- โกโก้เป็นพืชที่ปลูกง่าย ชอบน้ำ แสงแดดและอากาศแบบร้อนชื้นซึ่งตรงกับสภาพพื้นที่ในประเทศไทย
- ต้นโกโก้อาศัยร่มเงาจากไม้อื่นในช่วงที่เจริญเติบโตจึงสามารถปลูกแซมพืชเศรษฐกิจอื่นๆที่ให้ร่มเงาเล็กน้อยได้ เช่น ต้นมะพร้าว ต้นกล้วย ช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดในที่ดินการเกษตร
- ใช้เวลาปลูก 2-3 ปีก็เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้ และหากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมก็สามารถออกดอกและให้ผลได้ตลอดทั้งปี รวมถึงสามารถให้ผลผลิตต่อเนื่องไปได้ยาวนาน 20-30 ปี
- ผลโกโก้มีเปลือกที่หนา การเคลื่อนย้ายผลโกโก้ที่สุกแล้วไปแปรรูปต่อหรือส่งขายจึงสามารถทำได้สะดวก ไม่ต้องกลัวการบอบช้ำ
- ผลผลิตโกโก้โดยเฉพาะเมล็ดแบบแห้งนั้นเป็นที่ต้องการสูงทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร (ใช้เพื่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตแบบต่างๆ) และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (ใช้ไขมันโกโก้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทต่างๆ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น