วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การปลูกผักร่วมกัน วิธีการที่คนญี่ปุ่นใช้เพิ่มผลผลิตผักและลดการใช้สารเคมี

เกษตรกรส่วนใหญ่คงไม่มีใครอยากใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชมากหากไม่มีความจำเป็น เพราะนอกจากจะเป็นพิษตกค้างในพืชผักไปยังผู้บริโภคแล้วก็ยังเกิดผลเสียต่อผู้ปลูกเอง คนญี่ปุ่นมีวิธีการปลูกผักร่วมกันเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีลดการใช้สารเคมี มาดูประโยชน์การปลูกผักร่วมกันและผักอะไรบ้านที่ปลูกร่วมกันแล้วให้ผลในการเติบโตที่ดีกันนะคะ

ประโยชน์ของการปลูกผักร่วมกัน
การปลูกพืชร่วมกัน (Companion plant) คือการปลูกผักหลายชนิดในแปลงเดียวกัน โดยพืชผักแต่ละชนิดต่างให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน ดังนี้คือ
1. ช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืช โดยทั่วไปแมลงจะตามกลิ่นพืชแต่ละชนิดมา แต่การปลูกผักร่วมกันทำให้แมลงสับสนกับกลิ่นที่รวมกัน อีกทั้งพืชบางชนิด เช่น ดาวเรือง เบญมาศ และชิโสะ เป็นต้น จะมีกลิ่นที่แมลงไม่ชอบ ทำให้แมลงไม่เข้าไปทำลายพืชผักที่ปลูกอยู่ใกล้ ๆ
2. ช่วยลดโรคพืชจากการที่จุลินทรีย์ที่อาศัยร่วมกันกับรากพืชผลิตสารปฏิชีวนะเพื่อฆ่าจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคของพืชผักที่ปลูกร่วมกันได้
3. ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชผักที่ปลูกด้วยกันจากสารที่ขับออกมาจากราก ใบ และลำต้นพืช ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชผักอื่นได้ นอกจากนี้พืชตระกูลถั่วส่วนใหญ่จะมีแบคทีเรียไรโซเบียมอาศัยอยู่ที่ปมของรากพืชซึ่งช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศและค่อย ๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารเหล่านี้ให้กับพืชผักที่ปลูกร่วมกัน
ผักที่ควรปลูกเป็นพืชหลักและพืชเสริมร่วมกัน
1. การปลูกแตงกวา มะเขือเทศ หรือมะเขือม่วงเป็นหลักและปลูกเสริมกุยช่าย กระเทียมและ/หรือต้นหอม
แบคทีเรียแอนทาโกนิสต์ที่รากของกุยช่าย กระเทียม และต้นหอมจะช่วยควบคุมกดการเจริญของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคเหี่ยว และโรคใบไหม้ในแตงกวา มะเขือเทศ และมะเขือม่วงได้
2. การปลูกแตงกวาเป็นหลักและปลูกเสริมต้นหอมหรือหอมญี่ปุ่น
แบคทีเรียแอนทาโกนิสต์ที่รากของของต้นหอม จะช่วยกดการเจริญของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคในแตงกวาได้
3. การปลูกข้าวโพดเป็นหลักและปลูกเสริมถั่วแระญี่ปุ่นและ/หรือถั่วฝักยาว
การปลูกถั่วแระญี่ปุ่นและถั่วฝักยาวเสริมจะช่วยป้องกันไม่ให้หนอนข้าวโพดมาทำลายข้าวโพดได้ อีกทั้งถั่วแระญี่ปุ่นและถั่วฝักยาวเป็นพืชตระกูลถั่วซึ่งมีแบคทีเรียไรโซเบียมอาศัยอยู่ที่ปมของรากพืช ช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศให้กลายเป็นปุ๋ยแก่ข้าวโพดได้ นอกจากนี้การไมคอร์ไรซาที่รากของพืชจะช่วยให้พืชผักดูดซึมฟอสฟอรัสจากดินมาใช้ได้ดีขึ้น
ข้าวโพด
4. การปลูกกะหล่ำปลีหรือผักกาดขาวเป็นหลักและปลูกเสริมผักกาดแก้วหรือแครอท
กลิ่นจากผักกาดแก้วและแครอทจะป้องกันไม่ให้หนอนผีเสื้อและหนอนใยผักเข้ามาทำลายกะหล่ำปลีหรือผักกาดขาวได้
5. การปลูกมะเขือเทศ มะเขือม่วง หรือพริกหวานเป็นพืชหลักและปลูกเสริมถั่วลิสง
แบคทีเรียไรโซเบียมที่อาศัยอยู่ที่ปมของรากถั่วลิสงจะช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศลงสู่ดินและกลายเป็นปุ๋ยให้แก่มะเขือเทศ มะเขือม่วง และพริกหวาน
มะเขือเทศ
6. การปลูกแครอทเป็นหลักและปลูกเสริมถั่วแระญี่ปุ่น
ทั้งแครอทและถั่วแระญี่ปุ่นจะช่วยป้องกันแมลงให้แก่กันและกัน โดยถั่วแระญี่ปุ่นจะช่วยป้องกันแมลงผีเสื้อให้แก่แครอท และแครอทจะช่วยป้องกันมวนง่ามให้แก่ถั่วแระญี่ปุ่น อีกทั้งพืชทั้ง 2  ชนิดจะส่งเสริมการเจริญเติบโตซึ่งกันและกันด้วย
ถั่วแระญี่ปุ่น
วิธีการปลูกผักรวมดังกล่าวเป็นตัวอย่างวิธีการที่เกษตรกรญี่ปุ่นได้ศึกษาและปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและลดการใช้สารเคมี สำหรับเมืองไทยหากสนใจวิธีการก็สามารถนำไปศึกษาและปรับใช้ให้เข้ากับชนิดผักและภูมิอากาศบ้านเราดูนะคะ หากได้ผลดีก็จะเป็นการลดการใช้สารเคมีซึ่งจะนำไปสู่สุขภาพที่ดีของผู้บริโภคด้วยค่ะ
ที่มา:sanook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น